รูปร่างธนู
Bow ’ s Shape
รูปร่างธนู คือลักษณะส่วนโค้งหรือส่วนเว้าบริเวณโคน ( Riser ) ของคันธนู มีสองรูปแบบคือ
Reflex : บริเวณโคนอาจรวมถึงส่วนที่เป็นด้ามจับ มีลักษณะ ” เว้า ” เข้าหาตัวผู้ยิง
ส่วนเว้านี้ช่วยย่นระยะการเดินทางของสายธนูและลูกธนูระหว่างช่วงแขนให้สั้นลงเมื่อทำการยิง ทำให้มีความเที่ยงตรงสูง ( Precision ) และช่วยลดข้อผิดพลาดของผู้ยิง ( Forgiveness ) ธนูทรงนี้ช่วยให้ลูกธนูเกาะกลุ่มกันได้ดีแม้จะมีความคลาดเคลื่อนจากการยิงของนักธนูมือใหม่ ธนูรูปแบบ Reflex นี้ยังช่วยทำให้มีความเร็วลูกเพิ่มขึ้นอีกด้วย เหมาะสำหรับใช้ในการยิงระยะใกล้ ¹ เป็นอย่างยิ่ง แต่อาจมีข้อด้อยบ้างในเรื่องความแม่นยำ ( Accuracy ) ที่ต่ำ จึงอาจไม่เหมาะกับการยิงระยะไกล ¹
ธนูรูปร่าง Reflex นี้มักพบได้ในแถบเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้ยิงจากหลังม้ามีขนาดสั้นกระทัดรัด
หมายเหตุ ¹ ระยะยิงในที่นี้หมายถึงการยิงเป้าในสนาม ( Target Archery ) ในการแข่งขันจะมีการจัดระยะยิงไกลที่ 70 – 90 เมตร ระยะกลาง 50 เมตรและระยะใกล้คือ 18 – 30 เมตรโดยมีขนาดวงของเป้าที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ยิงจะมองเห็นวงในสุดของเป้าเหล่านั้นมีขนาดเท่ากับผลแอปเปิ้ลเท่ากันหมดทุกระยะ ( ส่วนมากนิยมใช้สีเหลืองเป็นมาตรฐาน มีคะแนนเท่ากับ 10 หรือ X ) แต่พิสัยทำการของธนูนั้นอาจมีระยะยิงที่มากกว่านั้น ( 150+ เมตรสำหรับธนูไม้และ 300+ เมตรสำหรับธนูมีรอกทดกำลัง ) ผู้ยิงควรใช้ความระมัดระวัง
Deflex : บริเวณโคนอาจรวมถึงส่วนที่เป็นด้ามจับ มีลักษณะ ” โค้ง ” ออกจากตัวผู้ยิง
ทำให้มีความแม่นยำสูง ( Accuracy ) ธนูทรงนี้ช่วยให้ลูกธนูมีโอกาสเข้ากลางเป้าได้มากกว่า แต่อาจมีข้อด้อยเรื่องความเที่ยงตรง ( Precision ) ที่ต่ำทำให้ลูกธนูมีโอกาสเกาะกลุ่มกันได้ไม่ค่อยดี ธนูรูปแบบ Deflex นี้มีความเร็วลูกต่ำกว่าแต่มีพลังงานสะสม ( แรงปะทะ ) มากกว่าเนื่องจากมีระยะการเดินทางของสายธนูและลูกธนูระหว่างช่วงแขนไกลขึ้น จึงเหมาะกับการยิงระยะไกล ๆ แต่ในการยิงระยะใกล้อาจเสียเปรียบธนูแบบ Reflex เล็กน้อย
รูปร่างธนูแบบ Deflex นี้มักพบได้ในแถบยุโรปและเอเชียบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่มีก้านธนูที่ยาวจึงมักมีชื่อเรียกขานว่า ธนูลองโบว์ ( Long Bow )
คลิกเพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับธนูลองโบว์
Accuracy vs. Precission
เมื่อกล่าวถึงรูปร่างธนูนี้แล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะกล่าวถึง ” ความแม่นยำ ” และ ” ความเที่ยงตรง ”
ธนูที่มีความแม่นยำ ( Accuracy ) สูง จะมีโอกาสที่ลูกธนูเข้ากลางเป้าได้มากกว่า แต่อาจจะมีกลุ่มลูกธนูที่กระจายตัวห่างกันมากกว่า กล่าวคือมีความเที่ยงตรง ( Precission ) ที่ต่ำ
ธนูรูปร่าง Deflex มักจะมีความแม่นยำสูง แต่ความเที่ยงตรงต่ำ
i ในทางกลับกัน !
ธนูที่มีความเที่ยงตรง ( Precission ) สูง จะมีกลุ่มลูกธนูที่กระจุกตัวใกล้กันมากกว่า แต่จะมีโอกาสที่ลูกธนูหลุดจากกลางเป้าได้มากกว่า กล่าวคือมีความแม่นยำ ( Accuracy ) ต่ำ
ธนูรูปร่าง Reflex มักจะมีความเที่ยงตรงสูง แต่ความแม่นยำต่ำ
กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความแม่นยำและความเที่ยงตรง ที่มักไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การออกแบบคันธนูที่ดีโดยใช้หลักการจัดรูปร่างธนูทั้งสองแบบ ปรับทดระยะจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ถือเป็นความท้าทายของนักทำธนูหรือที่เรียกกันว่า ” Bow Master ” นั่นเอง
ท่านที่เป็นนักธนูหน้าใหม่ อ่านแล้วก็อย่าพึ่งถอดใจเสียก่อนล่ะ ผู้เขียนก็มิได้มีความรู้อะไรมากมายนัก บ่อยครั้งที่ยังเผลอจำสลับกัน กว่าจะประติดประต่อ เรียบเรียงมาเขียนเป็นบทความนี้ได้.. ก็ทุลักทุเลเอาการ โดยแท้จริงแล้วเนื้อหาเหล่านี่ก็เป็นเพียงทฤษฏีเท่านั้น ในทางปฏิบัติท่านนักธนูอาจไม่สังเกตเห็นความแตกต่างเหล่านี้เลยก็เป็นได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลกับการเลือกรูปแบบของธนูคู่มือคู่ใจของท่าน เนื่องจากความแม่นยำและความเที่ยงตรงที่ได้จากการหมั่นเพียรฝึกฝนฝึกซ้อม มีผลมากกว่าตัวอุปกรณ์นั่นเอง
” ถนัดสอย “
31 ตุลาคม 2563
ดูธนูไม้ลานแบบต่างๆ คลิกที่นี่