ธนู คู่มือยิงธนู
วิธีขึ้นสายธนู ก่อนยิงทุกครั้ง
คู่มือยิงธนู วิธียิงธนู พิชัย ธนูไทยโบราณ ไม้ลาน ไม้ไผ่
ธนูพิชัย เฉพาะรุ่นศรีสงคราม ( ถอดประกอบได้ ) ให้ประกอบระบบธนูตามรูปนี้ก่อนครับ จากนั้นจึงจะดูขั้นตอนวิธีขึ้นสายธนูเหมือนรุ่นอื่น ๆ ต่อไป — ควรตรวจสอบว่าบ่ารับเข้ากันดีแล้วเพื่อความปลอดภัย มีความหลวมเล็กน้อยเป็นปกติ เมื่อขึ้นสายแล้วจะแน่นเอง ฝั่งที่เป็นด้ามคือด้านบน
— ธนูชิ้นเดียว ( รุ่นทวารวดี,ศรีสัชนาลัย,ศรีอโยธยา,ศรีโคตรบูร ) ดูข้อ 1 ได้เลย
ขั้นตอนวิธีขึ้นสายธนูพิชัย ธนูไทยโบราณ มีดังต่อไปนี้ คือ
1. ใช้สายเส้นนอกเป็นตัวขึ้นสาย ขั้วธนูฝั่งด้านล่าง ตรวจปลายสายให้เข้าร่องหัวท้าย
2. ขั้วธนูฝั่งด้านบน ปล่อยสายธนูคลายไว้ เพื่อเลื่อนขึ้นคันธนู ( ธนูถอดประกอบ ฝั่งที่เป็นด้ามคือด้านบน )
3. ใช้มือซ้ายจับคันธนูโดยให้คันธนูขนานกับพื้นดิน ร่องวางลูกอยู่ด้านขวา ใช้เท้าซ้ายเหยียบสายเส้นนอก
4. ใช้มือซ้ายดึงขึ้น สาม – สี่ ครั้ง สั้น ๆ เป็นการวอร์มไม้ ในครั้งที่สี่ให้ดึงสูงขึ้น พร้อมกันนั้นให้ใช้มือขวาเลื่อนห่วงสายธนูที่คลายไว้ให้เข้าร่อง ตรวจดูขั้วธนูทั้งสองฝั่งให้แน่ใจว่าสายธนูเข้าร่องเรียบร้อยแล้ว เพื่อความปลอดภัย
คำเตือน ระวังขึ้นสายธนูกลับด้าน เมื่อขึ้นสายแล้วควรมีลักษณะตามรูป — ถ้าขึ้นสายธนูกลับด้านแล้วทำการยิง ธนูอาจแตกเสียหายและท่านอาจได้รับอันตราย !!
โปรดสังเกต เมื่อขึ้นสายธนูถูกต้องแล้ว ปลายก้านธนูจะมีลักษณะโค้งงอนตามรูป ด้านที่มีผิวแบนเรียบ หันเข้าหาตัวผู้ยิง โดยมีฝั่งที่มีหมายเลข หันเข้าหาตัวผู้ยิง และเป็นด้านล่าง
5. ปลดสายเส้นนอก
6. ดึงเบา ๆ สาม – สี่ ครั้ง ครั้งสุดท้ายดึงเท่ากับระยะดึงของตนเอง เพื่อวอร์มไม้ให้ก้านธนูรู้ตัว
คำเตือน ห้ามปล่อยสายโดยที่ไม่มีลูก ธนูอาจแตกเสียหายและท่านอาจได้รับอันตราย !! หากมีเพื่อนที่ยังไม่เคยได้รับการฝึกยิงธนู มาขอทดลองดึงธนูของท่าน ท่านควรชี้แจงคำเตือนนี้เป็นลำดับแรก
7. ทำซ้ำ ข้อ 6. ประมาณ สี่ – ห้า ครั้ง เป็นการอบอุ่นร่างกายด้วย
คำเตือน อย่าลืมปลดสายเส้นนอกด้วย !!
8. ยิงได้ตามปกติ ห้ามดึงเกินระยะดึงของตนเอง ในรูปเป็นวิธีใช้แถบรองนิ้ว โปรดสังเกตปีกของลูกธนู ปีกสีเดี่ยวให้หันออกจากคัน ปีกสีคู่ให้หัน(คร่อม)เข้าหาคัน และให้เสียบลูกธนูที่ใต้ปุ่ม ( knocking point )
คำเตือน อย่ายกธนูขึ้นสูง !! เมื่อทำการยิง พิสัยของลูกธนูไปได้ไกลถึง 150 เมตรหรืออาจมากกว่านั้นในบางกรณีโดยขึ้นกับทิศทางลม โปรดระมัดระวังวิถีของลูกธนูและมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้อื่น
9. เมื่อหยุดยิง ให้ปลดสายโดยวิธีเดียวกับการขึ้นสาย แต่ให้ทำย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 4 -> 3 -> 2 -> 1 แล้วเก็บใส่ถุงรักษาเหมือนธนูชนิดอื่น ๆ ( ไม่ควรขึ้นสายทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ๆ หากไม่ได้ทำการยิง นักธนูมักจะปลดสายไว้เพื่อรักษาแรงดีดของธนูไม่ให้ล้า )
เมื่อทำตามคำแนะนำจะรักษาธนูได้นาน
หมายเหตุ
- การขึ้นสายธนูโดยไม่ใช้สายสำหรับขึ้นสาย เช่นการขึ้นสายธนูโดยการเกี่ยวขัดขา อาจทำให้ความโค้งธนูผิดเพี้ยน รูปทรงบิดเบี้ยว
- โปรดรักษากฎความปลอดภัย ในกีฬาการยิงธนูถ้ามีคนหรือสัตว์อยู่ในระยะยิงด้านหน้าท่าน ห้ามทำการยิงเด็ดขาด ถ้าใส่ลูกไว้แล้วให้ลดคันธนูลงต่ำ
- ห้ามใช้ยิงล่าสัตว์ ลูกธนูที่ขายเป็นชนิดยิงเป้าสนาม (Target Field) เท่านั้น เคยมีคนใช้ธนูมีรอกทดกำลังแรงๆ ยิงนกกระยาง ยิงไก่ ปรากฎว่ามันไม่ตายลูกธนูเสียบคา แถมยังบินเจ็บหนีไปพร้อมกับลูกธนูราคาแพงของท่าน ก็จะพลอยหายไปด้วย
วิธีการยิงธนู
- การทำเป้า ( Back stop ) ให้ตัดกล่องลังกระดาษเก่าที่เลิกใช้แล้ว ความกว้างและความยาว 40 ซม.ขึ้นไปมาซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นอย่างน้อย 5 ชั้นขึ้นไปโดยปิดกาวนิดหน่อย แปะกระดาษหน้าเป้าแล้วซ้อมยิงได้เลย หรือจะใช้ที่นอนกาบมะพร้าวเก่า ๆ หรือโฟมขาวก็ได้ ดีที่สุดคือแผ่นโฟมยาง หรือโฟมสังเคราะห์ที่ใช้ทำรองเท้าแตะ – ที่นอน ( หนา 2 นิ้วขึ้นไป ) หาซื้อได้ตามร้านขายของเก่าทั่วไป ถ้าหาแผ่นหนา ๆ ไม่ได้ให้ใช้แผ่นบางซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นโดยมีความหนารวมกันมากกว่า 2 นิ้ว ห้ามใช้ฟางอัดก้อน เพราะลูกธนูจะพุ่งทะลุได้
วิดีโอสาธิตการทำเป้าธนูด้วยโฟม หาง่าย ถูกและดี ( ขอบคุณ คุณโอธารแบ่งปันมาครับ )
- ควรใช้ลูกธนูปีกขนนกทำการยิง การใช้ลูกธนูปีกยางจะทำให้ลูกแฉลบ
- ควรใช้อาร์มการ์ด ( ปลอกแขน ) ที่เป็นผ้าหรือหนังเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้อาร์มการ์ดพลาสติก ควรแต่งกายให้รัดกุม ห้ามสวมใส่นาฬิกาข้อมือ เครื่องประดับ ฯลฯ บนแขนข้างที่จับคันธนู ห้ามสวมใส่เน็คไทหรือเหน็บปากกาไว้ในกระเป๋าบนอกเสื้อ สายธนูอาจเกิดการฉีกขาด หากกระทบกับอาร์มการ์ดพลาสติก นาฬิกาหรือเครื่องประดับอื่น ๆ และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรงได้
- วิธีสวมปลอกแขน ให้พับครึ่งตามรูปตัวอย่าง ( ใช้แค่ 1 ชิ้นนะครับ )
- เกี่ยวสายธนูโดยใช้บริเวณนิ้วข้อแรกนับจากปลายนิ้ว
บางท่านเกี่่ยวสายลึกเกินไปโดยใช้ข้อนิ้วที่สองนับจากปลายนิ้วนั่นคือผิดนะครับ อาจทำให้เกิดการเสียดสีกับสายธนูมากเกินไปทำให้ควบคุมวิถีของลูกธนูได้ยาก และทำให้อายุการใช้งานของสายธนูสั้นลงด้วย
จากรูปนางแบบคนนี้เกี่ยวสายลึกเกินไปนะครับ ที่ถูกต้องควรทำตามรูปต่อไปนี้
(เกี่ยวสายธนูโดยใช้ข้อนิ้วปล้องแรก)
- การยิงธนูแบบเทรดดิชันควรเอียงธนูเล็กน้อย ประมาณ 10 องศาจากแนวตั้งฉากกับพื้นโลก เพื่อเพิ่มองศาการวางพาดลูกธนูบนบ่ารับ หรือบนนิ้วมือได้ดีขึ้นไม่ร่วงหล่น และแฉลบออกเมื่อทำการยิง
- การจัดวางท่ายิงธนู ให้ใช้กล้ามเนื้อสะบักหลัง ถ่ายถอดแรงดึงจากช่วงแขนไปที่หัวไหล่และสะบักหลัง ไม่ใช่ออกแรงด้วยข้อศอก แขนที่ถือคัน ค้ำยันไว้พอสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็ง
ในภาพข้างบนเป็นท่ายืนมาตรฐานแบบธนูรีเคิร์ฟ แต่สำหรับธนูพิชัย ไทยโบราณ เป็นธนูประเภทเทรดดิชัน เวลายิงให้เอียงคันเล็กน้อยเพื่อทำหน้าที่รองรับลูกธนูให้พุ่งตรงออกไปตามทิศทางที่ต้องการ ดูตามรูปคุณพ่อพิชัยด้านล่างครับ
- การบิดแขนเพื่อไม่ให้สายธนูตีแขน โดยฝึกใช้มือและแขนดันหรือค้ำยันเสาไว้เล็กน้อยพอสบาย ๆ
แขนบิดอย่างนี้จะโดนสายดีด ..คงต้องเตรียมยาหม่องไว้ทา
แต่ถ้าไม่อยากพึ่ง..ยาทา ลองฝึกการบิดแขนให้ขนานกับแนวสาย โดยใช้แขนค้ำยันเสาไว้เล็กน้อยแล้วบิดแขนตามรูป แต่อย่าเกร็งหัวไหล่ ( สังเกตกล้ามเนื้อทุกส่วนอย่าให้เกร็ง มิฉะนั้นมือจะส่ายทำให้ยิงไม่แม่นครับ )
ควรเอียงคันเล็กน้อย บิดแขน แล้วจำความรู้สึกนี้ให้ได้ ทำซ้ำจนชินให้ได้ทุกครั้งที่ยิงโปรดสังเกตการจับคันของคุณพ่อฯ มือท่านไม่ได้กำด้ามจับแบบเดียวกับที่เรากำแฮนด์รถมอเตอร์ไซกันนะครับ กริปธนู ( ด้ามจับ ) จะรองรับอุ้งมือพอสบาย ๆ คล้ายกับดันคันธนูไว้เฉย ๆ ( ระวังคันธนูหลุดมือเวลายิงนะครับ ผู้เริ่มต้นฝึกหัดใหม่อาจใช้สายรัดนิ้ว — ข้อมือแบบธนูรีเคิร์ฟและธนูคอมปาวน์ก็ได้ แต่ในการแข่งขันบางสนามกรรมการจะห้ามใช้สายรัดกับธนูประเภทเทรดดิชันครับ — ยิงที่บ้านไม่มีใครว่า ) โปรดใช้ความระมัดระวังในการซ้อมดึงสายเปล่า ห้ามปล่อยสายโดยไม่มีลูก มือใหม่ควรใช้ทั้ง 5 นิ้วดึงสาย การปล่อยสายโดยไม่มีลูกอาจทำให้ธนูแตกเสียหาย ตัวท่านอาจได้รับอันตราย
- การฝึกยืนเปิด ช่วยลดสายตีแขน การยืนเปิดคือการเลื่อนเท้าขวามาข้างหน้าเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ถือคันธนูด้วยมือซ้าย ( ถ้าถนัดมือขวาให้สลับเป็นเลื่อนเท้าซ้ายในทำนองเดียวกัน ) มุมที่ทำการยิงจะเปลี่ยนจากเดิมคือ 180 องศาขนานแนวยิง เป็น 135 องศาขนานกับแนวยิง มุมจากแขน คันธนู และมือที่เหนียวสาย จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม โปรบางท่านยืนเปิดถึง 90 องศา = ตั้งฉากกับแนวยิงเลยก็มี ( สงสัยนอกจากจะหลบสายตีแขนแล้วยังหลบพุงด้วยมั้ง ^ ^ ) เมื่อท่านยืนเปิด จะช่วยลดปัญหาสายตีแขนและยังช่วยให้การทรงตัวขณะทำการยิงดีขึ้นอีกด้วย
- ระยะยิง สำหรับผู้เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ ควรเริ่มฝึกซ้อมที่ระยะ 5 – 8 เมตรก่อน ควรมีผู้เชี่ยวชาญดูวิถีลูกไม่ให้หลุดจากเป้า ( Back Stop ) ควรฝึกซ้อมเป็นประจำที่ระยะนี้อย่างน้อย 1 – 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะควบคุมธนูและวิถีของลูกธนูได้พอสมควร จึงจะเพิ่มระยะยิงเป็น 10 – 18 – 25 – 30 – 50 – 70 – 90 เมตรตามลำดับ ( ในบางประเทศอาจละเอียดกว่านี้ ) โดยใช้เวลาอย่างน้อยระยะละ 1 เดือนขึ้นไป ( หรือจนกว่ากลุ่มลูกธนูหรือผลการยิงจะเป็นที่น่าพอใจ — ที่ระยะยิง 30 เมตรกลุ่มลูกธนูไม่เกินผลแอปเปิลสำหรับธนูมีศูนย์เล็ง ผลแตงโมสำหรับธนูเทรดดิชัน )
- การเล็ง มีหลายวิธี
- ใช้หัวลูกธนูเป็นศูนย์หน้า อย่างเดียวไม่มีศูนย์หลัง ( เล็งแบบสัญชาติญาณ )
รูปบนเป็นการยิงเล็งแบบธนูรีเคริฟ สำหรับธนูไทยโบราณ ธนูไม้ลาน ธนูเทรดดิชัน ฯลฯ จะเล็งอย่างนี้ก็ได้ หรืออาจวางมือทั้งสามนิ้วไว้ใต้ลูก ( Three Under ) ตามรูปคุณพ่อพิชัยด้านล่าง โปรดสังเกตนิ้วชี้แตะที่มุมปากเพื่อกำหนดจุด ( Mark ) เพื่อทำซ้ำให้ได้ทุกครั้งที่ยิง เอียงคอเข้ามาหาลูกธนูเล็กน้อยเพื่อลดความผิดพลาด ( Error ) ระหว่างแนวสายตากับลูกธนู
- ใช้หัวลูกธนูเป็นศูนย์หน้า ท้ายลูกธนูเป็นศูนย์หลัง ( String walker ) มีความแม่นยำมาก โปรดสังเกตในตอนท้ายรายการ Super 60+ คุณพ่อพิชัย ( ลุงนิด ) ใช้วิธีนี้ยิงลูกโป่ง
คำเตือน ควรได้รับการฝึกโดยผู้เชี่ยวชาญเ่ท่านั้น ความยาวลูกธนูต้องมากกว่าระยะดึง มิฉะนั้นเมื่อทำการยิง ลูกธนูอาจถูกกระแทกกลับมาที่ดวงตา – อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นตาบอดได้ ปัจจุบันบางประเทศห้ามใช้วิธีเล็งแบบนี้ในการแข่งขัน ( ยิงโชว์ไม่มีใครว่าครับ )
วิดิโอแนะนำธนูไม้ลาน และสาธิตวิธีการยิง ( คลิกเลย )
วิธีการซ่อมลูกธนูคาร์บอน ( น็อคท้ายแตกหัก )
นักธนูมือใหม่ ( รวมทั้งมือเก่าด้วย ) เมื่อทำการยิงพลาดเป้า ลูกหลุดไปโดนกำแพงหรือต้นไม้ แรงสะท้อนจากการปะทะนั้นจะถ่ายทอดไปยังท้ายลูกเสมอตามกฏการชน ทำให้น็อคท้ายแตกหัก ท่านที่ซื้อลูกธนูพิชัย คุณพ่อท่านจะแถมน็อคท้ายอะไหล่ให้ด้วยจำนวนครึ่งนึงของลูกที่ซื้อ ( ราคาชุดละ 180 บาท ต่อ 6 ชิ้น ) วิธีเปลี่ยน มีดังต่อไปนี้ คือ
- ใช้ไขควงขันสกรูเบอร์เล็ก เข้าไปในน็อคท้ายลูกที่หัก ประมาณครึ่งเซนติเมตร หรือประมาณ 3 – 4 รอบเกลียว
- ใช้คีมจับหัวสกรู ดึงออก โดยหมุนเล็กน้อย
- นำน็อคท้ายอะไหล่สวมเข้าไปแทน โดยไม่ต้องหยอดกาวใด ๆ เพิ่มเติม –หากมีความจำเป็นต้องหยอดกาวให้ใช้กาวยางหรือกาวท่อประปาแต้มเพียงเล็กน้อย ควรทิ้งไว้ 24 ชม.ก่อนทำการยิง * ห้ามใช้กาวร้อนหรือกาวตราช้าง เพราะจะทำให้ท่านไม่สามารถดึงน็อคออกได้ หากเกิดการแตกหักอีกในครั้งต่อไป *
- โปรดสังเกต ให้ปลายน็อคท้ายขนานกับแนวปีกสีเดี่ยว ตามรูป
- ชุดอะไหล่อื่น ๆ มีรองรับครบถ้วน หัวเหล็ก ชุดละ 300 บาท ( 6 ชิ้น ) ปีกขนนก 360 บาท ( สำหรับ 6 ลูก ) ฯลฯ ซึ่งทำให้ลูกธนูของท่านมีอายุการใช้งานยาวนานได้หลายปี ( ถ้าไม่ยิงหายเข้าป่าเสียก่อนนะครับ )
- การเปลี่ยนหัวเหล็กสำหรับลูกคาร์บอน : ใช้ไฟแช็คลนปลายหัวเหล็กให้ร้อน ใช้คีมดึงออก จากนั้นใช้กาวร้อนหรือกาวตราช้างแต้มหัวลูกธนู ประมาณ 1 ข้อ กดลูกธนูและหัวลูกธนูกับพื้น ดันเข้าไปให้สุด ทิ้งไว้ 24 ชม. ก่อนทำการยิง
ข้อมูลทางเทคนิค และการบำรุงรักษา ธนูพิชัย ไทยโบราณ ทุกรุ่น
- Brace height ( ระยะจากด้ามธนูมาถึงสายธนู ) 6 + 1/4 นิ้ว หรือ 16.0 +/- 0.5 ซ.ม. ( ควรใช้เหล็กฉากทำการวัด เป็นค่ามาตรฐานเฉพาะบางรุ่น โปรดสอบถามก่อนนำไปใช้หรืออ้างอิง )
- ความยาวสายธนู = ความยาวธนู – 3 นิ้ว ( วัดจากร่องสายธนูหัวมาท้าย ) +/- 1 นิ้ว
- รอบหมุนเกลียวสายธนู 5 – 20 รอบ ( ธนูรุ่นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปใช้ คุณพ่อพิชัยปรับปรุงสายธนูให้เป็นสายมาตรฐานธนูรีเคิร์ฟ คุณพ่อจะหมุนเกลียวไว้ก่อน 0 – 5 รอบ เมื่อท่านทำการยิงเวลาผ่านไป 1 ปีหรือครบ 10,000 ครั้ง ควรตรวจสอบระยะ Brace height หากต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ ให้ทำการหมุนเกลียวสายธนูเพิ่ม 2 – 20 รอบ จากนั้นสายธนูจะสามารถคงตัวไปได้เป็นสิบปี ) ห้ามหมุนเกลียวเกินกว่ารอบที่กำหนด และ/หรือ ห้ามหมุนเกลียวจน Brace height สูงกว่าค่าที่กำหนดในข้อ 1. — จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ สายธนูสามารถต้านทานแรงดึงได้ 10 – 20 เท่าของแรงดึงคันธนู ประกอบกับเรายังไม่ได้รับรายงานว่าเกิดการยืดยานอย่างมีนัยสำคัญของสายธนูระบบนี้ตั้งแต่เริ่มทดลองใช้ในปี 2562 จวบจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นท่านไม่มีความจำเป็นในการหมุนเกลียวใด ๆ หากคันธนูของท่านยังทำงานเป็นปกติ — Update มี.ค. 2564
- สำหรับท่านที่ยิงธนูคุณพ่อพิชัยมาเกินสิบปี แนะนำให้เปลี่ยนสายเป็นระบบใหม่นี้ได้แล้วครับ ราคาเส้นละ 500 ส่งฟรี ( ตามร้าน 600 – 700 บาท )
- เมื่อทำการยิงครบทุก ๆ 10,000 ครั้งหรือประมาณ 1 ปี ควรเคลือบสายธนูด้วยขี้ผึ้งบาง ๆ ( ทาบาง ๆ ก็พอนะครับ อย่าถูมาก เคลือบเฉพาะบริเวณที่มีเส้นใยแตกเป็นขุย ๆ เท่านั้นก็พอ สีผึ้งแท้ ๆ บ้านเรานี่แหละครับใช้ได้ดีมีขายตามร้านชำ ไม่ต้องซื้อแวกซ์ของเมืองนอกก็ได้ ไม่แนะนำให้ใช้เทียนที่จุดบูชาพระเพราะแข็งไปหน่อย )
- เครื่องหมาย # บนธนูคือหน่วยปอนด์ วัดที่ระยะดึง 25 – 28 นิ้ว
- เครื่องหมาย lbs บนธนูคือหน่วยปอนด์เทียบสเกลสากล วัดที่ระยะดึง 28 นิ้ว
>>>————-> สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
ดูธนูไม้ลานไทยโบราณรุ่นต่าง ๆ ได้ที่นี่ คลิกเลย
คู่มือธนูพิชัยไทยโบราณ Thai – LAN – Bow ฉบับที่ 5.1.0 สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 ไม่สงวนสิทธิ์หากนำไปเผยแพร่เป็นสาธารณะประโยชน์ แต่สงวนสิทธิ์หากนำไปใช้ทางการค้า
ขอบคุณ 4 ภาพวาด จาก Archer’s reference guide(recurve) , Edition 1 , Balbardie Archers , 17 April 1999 , Editor: Murray Elliot , Copyright ©1999 United Kingdom
ธ นู พิ ชั ย
ต้ น ต ำ รั บ ธ นู ไ ม้ ล า น ไ ท ย
( ตั้ ง แ ต่ พ.ศ. 2 5 4 6 )